ชมพูยูนนาน ๒

Pedicularis nigra (Bonati) Vaniot ex Bonati

ไม้ล้มลุกหลายปีและพืชกึ่งเบียน ต้นเมื่อแห้งสีดำ ใบเดี่ยว เรียงเวียน อาจพบบ้างที่เรียงกึ่งตรงข้ามรูปแถบหรือรูปแถบแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจะ ปลายสอบเรียว ออกตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ดอกสีชมพู สีม่วงอมชมพู หรือสีแดงอมม่วง ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู ทรงรูปไข่ แบนข้างปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน เมล็ดจำนวนมาก ทรงรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน

ชมพูยูนนานชนิดนี่เป็นไม้ล้มลุกหลายปีและพืชกึ่งเบียน เหง้าอวบมีเนื้อ ด้านนอกสีขาว ด้านในสีขาวนวล ลำต้นเดี่ยว ตั้ง ไม่แตกกิ่ง สูงได้ถึง ๗๐ ซม. โคนสีน้ำตาลออกแดง บริเวณยอดสีเขียวอ่อน เกลี้ยงต้นเมื่อแห้งสีดำ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน อาจพบบ้างที่เรียงกึ่งตรงข้าม รูปแถบหรือรูปแถบแกมรูปใบหอก กว้าง ๐.๔-๑ ซม. ยาว ๓-๘ ซม. ปลายและโคนเรียวแหลมขอบหยักมนแกมหยักซี่ฟันเล็ก ๆ จำนวนมาก แผ่นใบค่อนข้างบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้มด้านล่างสีเขียวอ่อน เกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๖ เส้น ไร้ก้านใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ปลายสอบเรียว ออกตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ทั้งช่อยาว ๘-๑๒ ซม. ก้านช่อดอกสั้นมาก ใบประดับขนาดเล็ก รูปใบหอกถึงรูปใบหอกกว้าง สีเขียวอ่อนแกมขาวนวล ก้านดอกยาว ๓-๕ มม. กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนแกมขาวนวล โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก ด้านล่างหยักเว้าลึก แฉกรูปสามเหลี่ยม เกลี้ยง ปลายเรียบถึงหยักซี่ฟัน ๒ หยัก กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๒.๘-๓.๕ ซม. สีชมพู สีม่วงอมชมพู หรือสีแดงอมม่วง มีขนละเอียดประปราย โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดตรง ยาว ๑.๒-๒ ซม. ปลายมี ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก


ซีกบน ๒ แฉก เชื่อมติดกัน รูปคล้ายหมวก ตรงกลางโค้งลง กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายมนกลม ส่วนปลายสุดยื่นออกมาเป็นติ่งสั้น ๆ ด้านนอกมีขนยาวประปราย ซีกล่างกางออก กว้าง ๐.๗-๑.๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๔ ซม. มี ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. แฉกกลางมีแถบสีขาวยาวลงไปถึงปากหลอดกลีบดอก ขอบจักฟันเลื่อยถี่ไม่เป็นระเบียบ เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย สีขาวอมชมพู เกลี้ยง อับเรณูสีขาวนวล อยู่ชิดกันเป็นคู่ใต้แฉกกลีบดอกซีกบน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ปลายสอบเรียวแกมเรียวแหลม มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย สีขาวอมชมพู ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม สีเขียว

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู ทรงรูปไข่ แบนข้างปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๑.๔ ซม. ยาวกว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อยเมื่อแก่แตกเป็น ๒ ซีก มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดจำนวนมาก สีดำ ทรงรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ขนาดประมาณ ๑.๒ มม. ตรงหรือโค้ง

 ชมพูยูนนานชนิดนี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามชายป่าดิบเขาในทุ่งหญ้าที่เปิดโล่ง ในป่าเต็งรัง หรือป่าสน ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชมพูยูนนาน ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pedicularis nigra (Bonati) Vaniot ex Bonati
ชื่อสกุล
Pedicularis
คำระบุชนิด
nigra
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bonati, Gustave Henri
- Vaniot, Eugène
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Bonati, Gustave Henri (1873-1927)
- Vaniot, Eugène (1845-1913)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์